ก้าวรอก้าว ฉบับ54

 

KRK53 : August 2010 no.54

Cover by : ยางมะตอยสีชมพู

ก้าว..รอ..ก้าว (ปีสาม)
‘บ้านหนอน’ ออนไลน์แมกกาซีน
https://kaawrowkaw3.wordpress.com
kaawrowkaw@hotmail.com

สำนักหนอนสนทนา
http://www.winbookclub.com

Editor by : สิญจน์ สวรรค์เสก / นรินทร์ทองดี / ยางมะตอยสีชมพู /

ไอซ์ /saranya / จัสมิน / ท่านเจ้าคุณ

มีอะไรในเล่ม

h00_thumb2
สารบัญก้าว
 

มาจะกล่าวบทไป: สิญจน์ สวรรค์เสก

: ID – อิด

กวีก้าว: กวิสรา

: ความงามอันหวานเศร้า

ข้างหลังโปสการ์ด : saranya

: ID

โลกนี้มีไว้แบ๊ว: UgLy PriNceSS

: เจ้าหญิงกับซุปเปอร์ฮีโร่

ขณะหนึ่ง…เดินทาง: ส้มลิ้ม

: Id in It ว่าด้วยการสร้างศิลปะ

คิดเรื่อยๆเขียนเปื่อยๆ : popo

: กรงวาทกรรม

อิโหน่อิเหน่ : พีพี

เด็กเลี้ยงผีเสื้อ

หนังสือกับชีวิต : นรินทร์ ทองดี

: ปีศาจ:เสนีย์ เสาวพงศ์

อ่านเรื่องทั้งหมดในเล่ม

 

มาจะกล่าวบทไป โดย สิญจน์ สวรรค์เสก 

: ID – อิด 

 

Id – อิด

   ผมอยากจะเปลี่ยนคำสะกดประโยคนี้ใหม่เป็น It ซึ่งออกเสียงว่า อิด ได้เหมือนกัน แต่ความหมายของ It ในที่นี้จะเปลี่ยนไป กลายเป็น มัน แทน ซ้ำเป็น “มันดิบ” เสียด้วย

   Id ตามความหมายที่ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ อธิบายเอาไว้ในหลักจิตวิเคราะห์ของเขาคือ “จิตไร้สำนึกของมนุษย์” หรือ “สัญชาตญาณดิบของมนุษย์”

   โป๊ะเช๊ะเลย! ไหมล่ะ เข้ากับทฤษฎี It raw” หรือว่า “มันดิบ” ของผมพอดีเป๊ะเลย (แฮ่ม อันที่จริงทฤษฎีนี้ไม่ใช่ผมคิดค้นขึ้นมาเองดอกขะรับ แต่เป็นธรรมะที่หลวงปู่ชา สุภัทโท แห่งวัดหนองป่าพง ท่านแสดงเอาไว้โดยท่านเปรียบเทียบจิตระดับสัญชาตญาณของมนุษย์กับเม็ดมะม่วง ผมเพียงแต่นำหลักธรรมของท่านมาดัดแปลงเป็นทฤษฎี “มันดิบ” เท่านั้นเอง)

   หัวมันดิบจะมีเชื้อยางใยอยู่ในนั้น ก็เจ้าเชื้อนี้เองที่จะแตกหน่อต่อยอดเป็นเถาวัลย์หรือว่าเป็นลำต้นมันขึ้นมา แล้วออกดอกสืบผลต่อไปอีกไม่รู้สิ้น

   Id หรือว่า สัญชาตญาณดิบของมนุษย์ (แน่ล่ะ สัตว์ก็ด้วย เพราะสัตว์มีสัญชาตญาณรัก ชัง โกรธ เกลียด เหมือนมนุษย์) ไม่รู้ว่ามันแอบซุกซ่อนอยู่ในจิตตั้งแต่เมื่อไหร่ รู้แต่ว่าพอโตมาหน่อย จิตแต่ละดวงจะมีสัญชาตญาณที่รู้จักรักตัวกลัวเจ็บ โกรธและเกลียดเมื่อไม่ได้ดังใจหรือมีอะไรมาทำร้ายตน ริจะรักเมื่อเจอรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่ถูกใจ และคิดจะดึ๋งดืดสืบพันธุ์กันได้ไงก็ไม่รู้ ทั้งๆ ที่แต่ก่อนร่อนชะไรอีตอนเป็นเด็กวิ่งแก้ผ้าเล่นก็เคยเห็น…เคยเห็น…(เอ่อ…เคยเห็นอะไรต่ออะไรของเพศตรงข้ามนั่นแหละวุ้ย! อย่ามาบังคับให้ผมพูดนะ เดี๋ยวปั๊ดบอกตรงๆ ซะหรอก!)…ก็ไม่ยักจะมีอารมณ์แบบนี้กันเลย พอโตมาหน่อยล่ะก้อ ยุ่งกันใหญ่เชียว!

   ซึ่งเจ้า Id หรือว่าสัญชาตญาณดิบตัวนี้ จะถูกควบคุมด้วยกฎบ้านกบิลเมือง ที่แตกต่างกันไปตามยุคสมัยและตามสังคมแต่ละแห่ง สภาพแวดล้อมเหล่านี้เองที่จะเป็นเบ้าหลอมอัตตา (Ego) ของแต่ละคนขึ้นมา ดังจะเห็นว่าความยึดติดในความเป็นตัวตนของผู้คนจากแต่ละภาค แต่ละประเทศ นั้นต่างกันไปตามวัฒนธรรมการอยู่การกิน การพูดการคิดตามระบอบของสังคมนั้นๆ

   หากคนเราเรียนรู้ที่จะเป็นคนดีตามระบอบสังคมมากเข้า เคารพกฎกติกาและมีมารยาทดีงามตามขนบโลก จิตจะค่อยๆ ยกระดับขึ้นสู่ความดีงามตามธรรมชาติ (Super Ego) จะรู้ว่าอะไรคือความถูกต้องดีงาม อะไรคือความผิดบาปที่ไม่ควรก้าวล่วงได้เอง

     เอาล่ะ วกกลับมาหา “ทฤษฎีมันดิบ” กันอีกหน่อย

   หัวมันที่ประจุเชื้อดิบอยู่เต็มเปี่ยมนั้น จะเติบโตขึ้นมาเป็นต้นมันที่ดีงามหรือแคระแกรนก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ดิน น้ำ และลมฟ้าอากาศ ถ้าหากสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยดี ดอกผลของมันย่อมงามแน่นอน

   ครั้นเมื่อมันโตเต็มที่ ก็สามารถแตกหน่อต่อเหล่าออกไปอีกเรื่อยๆ เป็นวัฏจักรการสืบพันธุ์ไม่สิ้นสุด

     กลับไปที่จิตวิเคราะห์อีกครั้ง

   นับว่า ซิกมุนด์ ฟรอยด์ ศึกษาโครงสร้างของจิตมาได้พอสมควรแล้ว กระทั่งแยกแยะจิตได้เป็นสามระดับดังกล่าว หากฟรอยด์จะหยิบงานที่พระพุทธเจ้าได้ศึกษาเรื่องจิตมาศึกษาต่ออีกสักหน่อย ว่าจิตมีกระบวนการสืบต่อไปอีกแบบไหน และอย่างไรบ้าง คงจะทำให้เขาเข้าใจว่าแม้จิตจะพัฒนาไปถึงระดับศีลธรรม (Super Ego) แล้วก็ตาม แต่ถ้ายังเหลือยางใยคือยังมีจิตระดับสัญชาตญาณ (Id) และระดับตัวตน (Ego) แฝงอยู่แล้วละก้อ เมื่อกายนี้ซึ่งเป็นร่างทรงของจิตระดับสังคมและศีลธรรมเสื่อมทรามกระทั่งแตกดับไป จิตจะประมวลความรู้ทั้งหมดตกผลึกเป็นจิตระดับสัญชาตญาณขึ้นมาอีกในร่างใหม่ หมุนวนไปแบบนี้ไม่รู้สิ้น

   หากมองการสืบต่อของจิตตามหลักจิตวิเคราะห์และเชื่อมโยงเข้ากับหลักวิวัฒน์ของจิตในเชิงพุทธแล้ว เราจะมองเห็นการ “ยกระดับพันธุกรรมทางจิต” กันบ้างล่ะกระมัง ปัญหาที่ว่าทำไมมนุษย์เกิดมาไม่เท่าเทียมกันจะค่อยๆ หมดไป เพราะว่าจิตระดับตัวตน (Ego) และระดับศีลธรรม (Super Ego) ของแต่ละดวงนั้นผ่านการฝึกฝนมาไม่เท่ากัน เมื่อจิตต้องกลับไปตั้งต้นใหม่ในระดับสัญชาตญาณ (Id) จิตจะถูกพัฒนาขึ้นมาตามที่เคยถูกอบรมบ่มเพาะจนตกผลึกเป็นอุปนิสัยมานั่นเอง

   เทียบกับมันดิบได้ว่า เมื่อมันโตมาท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่อาจจะดีหรือเลว จะมีผลต่อลำต้นและดอกผล เมื่อเรานำหัวมันนั้นๆ ไปปลูกอีกครั้ง คุณภาพของเมล็ดพันธุ์ที่ได้จะมีผลต่อลำต้นและดอกผลของมันในรุ่นต่อไป

   ทั้งนี้ ยังไม่ใช่บทสรุปเสมอไป เพราะสภาพแวดล้อม ดิน น้ำ อากาศ ในปีถัดไปก็สำคัญต่อการเจริญเติบโตของมันเช่นกัน

   ไม่ต่างจากสัญชาตญาณดิบหรือจิตไร้สำนึก (Id) ของคนเรา ซึ่งเกิดจากการสั่งสมพฤติกรรม หรือที่พระพุทธศาสนาเรียกว่า “กรรม” จิตไร้สำนึกนี้เองที่เป็นตัวกำหนดพันธุกรรมว่าจะเกิดมาสมบูรณ์มียีนส์ครบถ้วนหรือบกพร่องอย่างไร เป็นตัวคัดเลือกสถานที่เกิดให้ตนเองว่าควรไปเกิดในที่ไหน และเป็นตัวกำหนดความสามารถให้ตนเองด้วยเสร็จสรรพว่าควรจะมีความสามารถระดับใด

ถึงแม้จะมีกำเนิดมาดีหรือไม่ดีก็ตาม แต่สภาพแวดล้อมของสังคม การถูกอบรมสั่งสอนปลูกฝังจริยธรรม ต่างๆ เหล่านี้ ล้วนมีผลสำคัญต่อพัฒนาการของจิต (หรือจะเรียกว่าชีวิตก็ได้) ในระดับต่อไปทั้งสิ้น

   แม้วิชาการของฟรอยด์จะพาเราไปรู้จักจิตทั้งสามระดับได้ แต่ไม่สามารถหาบทสรุปว่าจิตระดับสัญชาตญาณเกิดขึ้นมาได้อย่างไร และทำไมคนเราจึงมีความสามารถในการควบคุมจิตระดับนี้ได้ต่างกัน รวมทั้งฐานะที่จิตจะพัฒนาขึ้นไปถึงได้นั้น จะสิ้นสุดที่ตรงไหน และด้วยวิธีการใด เราจึงได้ความรู้จากวิชาจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์แบบเป็นส่วนๆ เสี้ยวๆ

   ต่างจากวิชาของมหาสมณโคดม ที่ทรงชี้ให้เห็นว่าจิตระดับสัญชาตญาณนั้นเป็นผลที่สืบเนื่องมาจากจิตที่ผ่านการควบคุมตามกฎหรือกติกาของสังคม และการอบรมระดับศีลธรรมอันเป็นความดีงามตามธรรมชาติ ซึ่งขึ้นอยู่กับจิตแต่ละดวงว่าเคยเรียนรู้ที่จะควบคุมหรือฝึกฝนตนเองให้ดีงามมาแค่ไหน

   กระทั่งท้ายที่สุด ทรงสอนถึงวิธีที่จิตแต่ละดวงจะแผดเผายางใยแห่งตัณหา หรือว่าความรู้สึกทั้งหลายทั้งมวลตามสัญชาตญาณความเคยชินเก่าๆ ของตนให้หมดไปได้อย่างไร จนสามารถหยุดวงจรที่ต้องมาเวียนว่ายตามอำนาจบงการของจิตอีกต่อไป

จิตคือตัวรู้

เราจะนำตัวรู้ไปวางไว้ในระดับใดล้วนย่อมได้

การรู้อยู่กับตัวรู้ คือความรู้ที่แทงย้อนศรเข้ามาสู่ใจกลางดวงจิต ซึ่งหากใครฝึกรู้จิตบ่อยๆ อย่าว่าแต่จะมองกระบวนการจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์กระจ่างเลย กระทั่งสาเหตุที่จิตต้องมาหลงวนเวียนอยู่กับอารมณ์เบื้องต่ำระดับสัญชาตญาณ (Id) เบื้องกลางระดับระบอบของสังคม (Ego) และเบื้องสูงระดับศีลธรรม (Super Ego) ก็จะแจ้งใจสิ้น

สภาวะที่แทงทะลุเข้าถึงตัวรู้กระทั่งละทิ้งมายาทั้งหลายเสียได้นี้ ปราชญ์ทางพุทธเรียกว่า “จบจิต”

เปรียบเสมือนหัวมันที่ถูกแผดเผาจนยางใยดิบๆ ภายในเหือดแห้งแล้ว ก็ถือว่า “จบกัน” คือปลูกยังไงก็ไม่ขึ้นอีกแล้วนั่นเอง

*ขอบคุณภาพจาก : www.sri.cmu.ac.th/elanna/elanna4…f24.html

 

 -คม-

   “ศาสนาเป็นความเชื่อ เป็นโครงสร้างทางสังคมอย่างหนึ่ง เป็นคำสั่งสอนหรือแนวทางของชีวิต หรือแนวคิดหรือคุณค่า (value) เกี่ยวกับศีลธรรม เป็นกระบวนการที่มีการปฏิบัติ หรือพิธีกรรม ศาสนาอาจไม่มีหรือไม่อิงกับความรู้

   ส่วนปรัชญาแม้อาจจะมีหลายส่วนอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนกับศาสนา คือเป็นการศึกษาเรื่องความจริง ความคงอยู่ของมนุษย์ จิต ฯลฯ แต่เป็นการศึกษาผ่านการวิเคราะห์บนพื้นฐานของเหตุผล ไม่ใช่บนฐานของความเชื่อหรือพิธีกรรม

   เนื่องจากยากที่จะให้คำจำกัดความแบบฟันธง ดังนั้นบางคนจึงจัดว่าพุทธเป็นปรัชญา ไม่ใช่ศาสนา แต่บางคนก็ไม่เห็นด้วย บางคนจัดว่าเต๋าเป็นศาสนา แต่บางคนก็ไม่เห็นด้วย ฯลฯ

 -ขำ-

“โกหก!”

ถาม : อาคะ อาเคยอกหักมั๊ยคะ แล้วอามีวิธีจัดการกะมันยังไงคะ?

ตอบ : ไม่ถึงกับหักครับ แค่เดาะหรือเคล็ดยอก เวลาออกกำลังกายในท่าก้มทั้งหลาย ผมจึงต้องระวังร่างกายส่วนบนมากเป็นพิเศษ เพราะไม่ชอบไปหาหมอทำกายภาพบำบัด

“ความรักทำให้คนเปลี่ยนไป”

ถาม : ถ้าสมมติว่า คุณวินทร์ได้ไปเที่ยวฟาร์มวัว แล้วเกิดหลงรักวัวตัวเมียตัวนึงเข้า คุณวินทร์จะมีวิธีจีบวัวตัวนั้นยังไงครับ

ตอบ : มออออออออออ!

-วินทร์ เลียววาริณ-

ก้าวอื่นๆ 

 

กวีก้าว    

โดย กวิสรา 

ความงามอันหวานเศร้า

 

ในม่านหมอกขาว แสงดาวมิแตะต้อง
สวยสายแดดส่อง สีทองแสนหวาน
ม่านหมอกแห่งนั้น คล้ายฝันวันวาน
ล่วงแล้วเลยผ่าน เหมือนเธอจากไป

ฉันกระซิบเธอ ผ่านลมฤดูฝน
ซากดอกไม้หล่น ฉันยังเก็บไว้
ความหอมนั้นซึ้งตราตรึงกินใจ
เกินกว่าข้างใน จะกลั้นน้ำตา

ฉันกระซิบเธอ ผ่านลมฤดูฝน
ดอกไม้งามจน ฉันเศร้าเหว่ว้า
วันเดือนเคลื่อนปีราตรีเร่พา
ห้วงแห่งเวลางดงามโรยเลือน

ความรัก
ถักทอจากไหน จึงได้งามเหมือน
คลื่นแห่งทะเลเห่โอบดาวเดือน
หมอกเหนือน้ำเคลื่อน ขึ้นห่มขอบฟ้า

มองผ่านเวลา อันเงียบเชียบนี้
ฉันเห็นดนตรีความปรารถนา
จูบกลีบดอกไม้ยามร่วงโรยรา
ร่ำหยาดน้ำตา อยู่กลางอรุณ

ความรัก
ตักตวงเอาไว้ให้ใจอบอุ่น
เศร้าอยู่ปานนั้นยังหวานละมุน
กรุ่นหอมแม้นเราสัมผัสเบาบาง

เช้าแห่งความรักอันแสนหวั่นไหว
เราต่างอยู่ในโลกแห่งช่องว่าง
เป็นแสงตะวันกับจันทร์เรื่อราง
ไร้ทางจะหลอมแต่พร้อมจะลา

…เธอ….
เสมอความงาม อันเหว่ว้า
ความรักของฉัน อยู่ในดวงตา
มองผ่านภาพพร่า เธอจากฉันไป

กวิสรา – 20 กรกฎาคม 2553

ก้าวอื่นๆ 

 

ข้างหลังโปสการ์ด โดย saranya_nok.worm 

: ID  

 

"My Only Wish This Year"
Last night I took a walk in the snow.
Couples holding hands, places to go
Seems like everyone but me is in love.
Santa can you hear me
I signed my letter that I sealed with a kiss
I sent it off
It just said this
I know exactly what I want this year.
Santa can you hear me.
I want my baby (baby, yeah)
I want someone to love me someone to hold me.
Maybe (maybe, maybe maybe.) he’ll be all my own in a big red bow
Santa can you hear me?
I have been so good this year and all I want is one thing
Tell me my true love is near
He’s all I want, just for me underneath my christmas tree
I’ll be waiting here.
Santa thats my only wish this year.
oohhh ohh yeah
Christmas Eve I just can’t sleep
Would I be wrong for taking a peek?
Cause I heard that your coming to town
Santa can you hear me? (yea yeah)
Really hope that your on your way
With something special for me in your sleigh
Ohh please make my wish come true
Santa can you hear me
I want my baby (baby)
I want someone to love me someone to hold me
Maybe (maybe maybe) we’ll be all the love under the mistletoe
Santa can you hear me
I have been so good this year
And all I want is one thing
Tell me my true love is near
He’s all I want just for me
Underneath my christmas tree
I’ll be waiting here santa thats my only wish this year
I hope my letter reaches you in time
Bring me love can call all mine
(yeah yeah) cause I have been so good this year.
Can’t be alone under the mistletoe
He’s all want and a big red bow
Santa can you hear me (hear me?)
I have been so good this year
And all i want is one thing
Tell me my true love is near
He’s all I want. just for me
Underneath my christmas tree
I’ll be waiting here (ohh yeah) santa thats my only wish this year
Oh santa can u hear me? oh santa
Well hes all I want just for me underneath my Christmas tree
Oh I’ll be waiting here
Santa thats my only wish this year.

เมธีคะ…

ฉันยังจำเพลงนี้ได้อยู่เลยค่ะ  เพลงที่เมื่อปีใหม่ที่ผ่านมาคุณเคยบอกว่า…คุณกำลังชอบฟังและฉันน่าจะลองฟังดูบ้าง  ขอโทษด้วยที่ฉันก็ไม่ได้ประทับใจอะไรนักหรอกนะคะกับบทเพลงที่คุณบอกให้ฉันฟัง  แต่มีเรื่องตลกตรงที่ว่า  รอบแรกที่ฟังฉันตีความผิดไปอย่างมากมาย  เพราะฉันตีความคำว่า baby ไปตรงตัวว่า “ ทารก ”  แล้วเนื้อหาทั้งหมดก็เกี่ยวโยงไปถึงผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งกำลังขอลูกกับซานตาครอส  เมื่อได้ฟังอย่างตั้งใจอีกครั้งฉันตกใจมาก  ไม่รู้ว่าทำไมตอนแรกตัวเองจึงตีความไปแบบนั้น  ฮา (ไม่ค่อยออก)…  นี่ล่ะค่ะเป็นสิ่งที่ทำให้ฉันจดจำเพลงนี้ได้จนทุกวันนี้…

เมื่อมาเห็นเนื้อเพลงนี้แล้ว  ฉันจึงนึกวิเคราะห์ดู  อาจเป็นไปได้ว่า  ความรู้สึกที่ได้ฟังครั้งแรกนั้นคือสิ่งที่เรียกว่า “ id ” ของฉัน  เป็นส่วนของจิตไร้สำนึกที่ไม่ได้คำนึงถึงความเป็นจริงเลยว่า  เพลงที่คุณให้ฟังนั้นควรจะหมายถึงอะไร  แต่กลับฟังเพื่อสนองความต้องการ ความพึงพอใจ ของตัวเองเท่านั้น

อืม…มแต่โชคดีเป็นอย่างมากที่ฉันยังรู้จักควบคุมสติของตัวเอง   ไม่อย่างนั้น ego อาจสั่งการให้ฉันทำอะไรแปลก ๆ เช่น จ้างผู้ชายสักคนมาเป็นเจ้าของเชื้อผสมเทียม หรือทำเด็กหลอดแก้ว เพื่อให้ได้เด็กทารกสักคนอย่างที่จิตไร้สำนึกสั่งการ เหมือนอย่างที่ครั้งหนึ่งเคยเขียนบอกคุณไว้ในจดหมายบนเส้นขนานก็ได้ ฮา…(อีกแล้ว)

ชีวิตของฉันสองปีกว่ามานี้วนเวียนอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า id นะคะเมธี  ตั้งแต่วันแรกที่หลานสาวของฉันถือกำเนิดขึ้นมา  แล้วพยาบาลอุ้มมายังห้องพักของน้องสาว  หลานสาวตัวน้อย ๆ ได้อ้าปากเล็ก ๆ กลม ๆ ร้องไห้จ้า  คุณพยาบาลก็ส่งตัวไปยังคุณแม่ของเธอเพื่อให้นม  เด็กทารกเมื่อหิวนมก็แสดงออกโดยการร้องไห้ออกมาเลย  ไม่มีการควบคุมใด ๆ ทั้งสิ้น  แต่พอหลานเริ่มเติบโตขึ้นก็จะได้รับกระบวนการขัดเกลาจากสังคม จากคุณพ่อคุณแม่ของเธอก่อน  จากปู่ย่าตายาย  ป้าอย่างฉัน  ให้รู้จักทำโน่นทำนี่  รู้จักอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ  แต่สิ่งที่เรียกว่า id นั้นก็ยังมีอยู่อย่างมากมายในวัยเด็กนะคะ  สังเกตว่าเด็ก ๆ จะร้องไห้ได้ง่ายและบ่อยกว่าผู้ใหญ่มาก  คุณจะรู้ซึ้งได้เองก็เมื่อวันที่คุณเป็นพ่อคนนั่นล่ะค่ะ…

ผ่านปีใหม่มา 7 เดือนแล้ว  ฉันเริ่มสงสัยว่า…  อีก 5 เดือนข้างหน้า  ฉันคงต้องฟังและร้องเพลงนี้อีกครั้ง…

ฉันพูดเล่นน่ะค่ะ  ความจริงการมีครอบครัวนั้นไม่ใช่ความฝันสูงสุดในชีวิตของฉันสักเท่าไร  ในเมื่อทุกวันนี้ฉันก็มีความสุขดี  และคิดว่าผู้ชายที่บังเอิญร้องเพลงนี้  แล้วซานตาครอสห่อฉันใส่กล่องส่งไปให้เป็นคู่ด้วย  คงจะต้องหนักอกหนักใจกับความเป็นคนที่ไม่เหมือนใครของฉัน  ก็ฉันมันคน id สูงนี่คะ  ไม่ใช่ ego สูง 555… 

ขอบคุณสำหรับความห่วงใยนะคะเมธี  ฉันจะดูแลตัวเองเป็นอย่างดี  และหวังว่าคุณจะดูแลชีวิตจิตใจ  และหล่อเลี้ยงความใฝ่ฝันให้เติบโตด้วยความรักที่งดงามของคุณอยู่เสมอ  ฉันจะคอยเป็นกำลังใจให้ค่ะ…

แด่…เมธี  และ “ babies ”

เบื้องหลังของด้านหลัง

เดือนมีนาคม 2553 เพื่อนรักคนหนึ่งของฉันโทรศัพท์มาชวนฉันไปดูละครเวทีเรื่องหนึ่ง เมื่อฉันถามไปว่าคือเรื่องอะไร เธอตอบกลับมาด้วยเสียงที่เจือรอยยิ้มอยู่ในนั้นว่า “ เนื้อคู่ 11 ฉาก จากวันแรกถึงวันลา ” ทันทีที่ได้ฟังชื่อเรื่องฉันสะอึกเล็กน้อย ใช่ที่ว่าละครเวทีเรื่องนี้มีชื่อเสียงโด่งดังมาก ผู้แสดงนำนั้นเป็นนักแสดงที่มากด้วยฝีมือ และแสดงมาแล้วทั้งหมดเป็นร้อยรอบ แต่สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่เลยที่ทำให้ฉันกล้ำกลืนเก็บซ่อนก้อนสะอึกไว้ภายในไม่ให้เล็ดลอด แล้วตอบเธอกลับไปว่า “ ตกลงจ้ะ ฉันจะไปกับเธอ ” แต่เป็นเพียงเพราะฉันต้องการไปเป็นเพื่อนเธอ เหตุผลเดียวเท่านั้นจริง ๆ!

ละครเวทีเรื่องนี้ใคร ๆ ก็รู้ดีว่า เหมาะสำหรับคนที่มีคู่รัก หรือคนซึ่งกำลังมองหาชีวิตครอบครัว ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่เลือนรางมากในความใฝ่ฝันของฉัน ฉันคิดไปในตอนแรกว่าฉันคงไปนั่งดูไปเรื่อย ๆ เท่านั้นเอง แต่ก็ผิดไปจากความคาดคิดของฉันมาก คงเพราะละครเรื่องนี้มีเนื้อหาซึ่งมุ่งตรงไปยังสิ่งหนึ่งในชีวิตมนุษย์ทุกคน “ ความรัก ” และ “ สัญชาตญาณทางเพศ ” ซึ่งแบ่งเป็นสัญชาตญาณเพื่อการดำรงชีวิต และสัญชาตญาณเพื่อความตาย

เนื้อคู่ 11 ฉาก จากวันแรกถึงวันลา เป็นเรื่องราวซึ่งเปิดฉากขึ้นในวัยแรกรุ่นระหว่างตัวละครหลักสองตัวคือ เต้ (ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี) และ เอม (สินใจ เปล่งพานิช) ท่ามกลางค่ำคืนที่มีแสงสีจัดจ้าน ซึ่งทั้งสองบังเอิญแอบหนีไปเที่ยว ณ ผับแห่งหนึ่งแล้วได้พบกัน การเจอกันในวันนั้นทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองได้เริ่มต้นขึ้น…

เอมและเต้ หนุ่มสาวที่มีตัวตนที่ต่างกันสุดขั้ว เอมเป็นหญิงสาวที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความคาดหวังและเงื่อนไขในชีวิตอย่างมากมาย ขณะที่ เต้ ชายหนุ่มอารมณ์ดี เจ้าสำราญ ไม่มีกฎเกณฑ์ใด ๆ ในชีวิต เขาและเธอตกลงเป็นแฟนกันหลังจากเรียนจบและเริ่มต้นทำงาน ช่วงที่ทั้งคู่เป็นแฟนกันอยู่นั้น ต่างพยายามมองข้ามจุดต่างเหล่านั้นไป

แต่ทิศทางของความรักและสัญชาตญาณทางเพศ หรือ id ของทั้งคู่ ดูเหมือนจะอยู่เหนือการควบคุมของ ego หรือพลังแห่งการใช้เหตุผลตามความเป็นจริง ความคิดและสติปัญญา เมื่อต่อมา เอม เกิดพลาดพลั้งและได้ตั้งครรภ์ก่อนแต่ง นำไปสู่การต้องใช้ชีวิตคู่ของทั้งสองโดยฉับพลัน

ในคืนแต่งงานซึ่งเป็นเหมือนคืนฝันอันแสนสุขที่ผู้หญิงทุกคนใฝ่ถึง เช่นเดียวกันกับเอม แม้เธอจะรู้สึกวิตกกังวลกับสิ่งที่จะตามมาในความไม่พร้อมต่าง ๆ นานา แต่ความฝันอันแสนหวานถึงความสุขก็มักจะวนเวียนผสมผสานไปกับ id ของมนุษย์ทุกผู้คน และด้วยความเป็น เอม ความฝันอันแสนหวานของเธอนั้นยังอัดแน่นไปด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ สำหรับเต้ ซึ่งพร้อมและยินยอมรับคำ

สังเกตกันไหมว่า… ในธรรมชาติแล้ว มนุษย์เรากอรปขึ้นด้วย id ego และ superego ที่มีอัตราส่วนไม่เท่าเทียมกัน เช่นกันกับ เอม และ เต้ ซึ่งเมื่อมาใช้ชีวิตคู่ร่วมกันอยู่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น สัญชาตญาณต่าง ๆ ที่เคยพยายามมองข้ามกันไป กลับแสดงออกมาอย่างไม่อาจปกปิดได้อีกต่อไป อีกทั้ง id ego และ superego ที่แสดงออกอย่างไม่ลงตัวของคนสองคน ก็กลายเป็นสิ่งที่ทำให้สถาบันครอบครัวเริ่มสั่นคลอน

เต้หาความสำราญใส่ตนโดยไม่คิดถึงครอบครัวที่อยู่ข้างหลัง ในขณะที่เอมออกจากงานมาเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูกอยู่คนเดียวอย่างยากลำบาก เงื่อนไขต่าง ๆ ที่เอมได้วางไว้ ไม่เคยมีวันไหนที่เป็นจริงขึ้นมาได้ การทะเลาะเบาะแว้งเกิดขึ้นแทบทุกครั้งที่ทั้งสองพบหน้ากัน สุดท้าย ใบเตย ลูกสาวของทั้งคู่ก็ต้องประสบกับภาวะครอบครัวแตกแยก พ่อไปทางหนึ่ง แม่ไปทางหนึ่ง

ฉากหนึ่งที่ เอม กำลังจะพา ใบเตย ไปจากบ้าน เป็นฉากที่นักแสดงทุกคนแสดงบทบาทได้สะเทือนหัวใจ ความแข็งกร้าวของผู้เป็นแม่ เสียงร้องหาพ่ออันโหยหวนของเด็กหญิงวัยบริสุทธิ์ และสายตาปวดร้าวลึกของผู้เป็นพ่อ…

แต่… ใบเตย ก็เป็นเพียงสิ่งเดียวที่เชื่อมสายสัมพันธ์ของทั้งสองไว้ในเวลาต่อมา

เอมตัดสินใจแต่งงานใหม่ ใช้ชีวิตร่วมกับ พี่ก้อง (ทัตพงษ์ พงษ์ทัต) อดีตแฟนคนแรก ในขณะที่ เต้ ใช้ชีวิตกับหญิงสาวมากหน้าหลายตา แต่ก็ไม่เคยยึดติดกับใครสักคนอีกเลย และแล้วก็เป็นอีกครั้งที่ทั้งสองต้องกลับต้องมาร่วมแก้ปัญหาด้วยกัน เมื่อใบเตยตั้งท้องในขณะที่ยังเรียนหนังสืออยู่ เอมทำทุกวิถีทางเพื่อให้ชีวิตของลูกสาวไม่ล้มเหลวเหมือนที่เธอเคยเป็น แต่เต้กลับเลือกให้ปัญหาของใบเตยคลี่คลายด้วยความรัก…

วันเวลาผ่านไป… ความแน่นอนที่สุด ก็คือ ความไม่แน่นอน สุดท้ายชีวิตคู่ของเอมและพี่ก้องก็ต้องจบลงด้วยการหย่าร้าง

ก่อนถึงฉากสุดท้าย… เอมล้มป่วยลงด้วยสาเหตุจากการสูบบุหรี่อย่างหนักมาตลอดเวลาหลายต่อหลายปี และผู้ชายอย่างเต้ ที่เอมคิดเสมอว่า “ เห็นแก่ตัว ” กลับเป็นคนที่คอยดูแลและอยู่เคียงข้างเอม ความรักความห่วงใยของทั้งคู่กลับแจ่มชัดมากขึ้น แต่เหตุการณ์เลวร้ายก็เกิดขึ้นอีกครั้ง!

และนั่นเอง… ที่ทำให้เอมรู้ว่า…เต้ คือผู้ชายเห็นแก่ตัวที่เอมรักมากที่สุด

เมื่อละครเรื่องนี้ปิดฉากลง ฉันก็หวังเล็ก ๆ ว่า…ตัวเอง ผู้ชม และผู้อ่าน จะสวมบทบาทของ id , ego และ superego ในการดำเนินการแสดงบทบาทชีวิตแต่ละฉากได้อย่างเป็นไปตามธรรมชาติของแต่ละคนมากที่สุด…

บางคำ… จากละคร…

*******************************

“ ผู้ชายก็ชอบโกหกเหมือนกันนั่นแหละ ”

“ ก็เพราะผู้หญิงชอบฟังคำโกหกไง ”

*********************************

*********************************

คนเราต้องหัดลืมอะไรไปบ้าง

มัวแต่จำทุกเรื่องไว้ในหัว

มันจะทำให้เราเป็นทุกข์

***********************************

************************************

เมื่อก่อนฉันมีเงื่อนไขเยอะ เพราะอยากมีชีวิตที่ดี

แต่เอาเข้าจริง ๆ ถึงจะทำตามเงื่อนไขพวกนั้นได้

ก็ไม่ได้หมายความว่าชีวิตมันจะดีเสียหน่อย

*************************************

คุณเคยได้ยินไหมว่า

ก่อนจะเป็นแฟนกันให้เปิดตาสองข้างให้กว้างที่สุดเท่าที่จะกว้างได้

แต่พอเป็นแฟนกันแล้ว ต้องปิดตาข้างหนึ่ง

****************************************

ขอขอบคุณ

– บทเพลงจากเพื่อนที่ดีคนหนึ่ง

http://th.wikipedia.org

http://blog.eduzones.com/applezavip/19896

http://www.siamzone.com/board/view.php?sid=813682

ก้าวอื่นๆ 

 

โลกนี้มีไว้แบ๊ว โดย UgLy PriNceSS 

: เจ้าหญิงกับซุปเปอร์ฮีโร่  

“นั่งที่เดิมๆ นี่ล่ะนะดีแล้ว เห็นลำตะคองชัดดี”

สาลิกาพึมพำกับตัวเอง พร้อมกับเอามือเหี่ยวค่อยๆดึง ม่านบังตาภายในรถโดยสารออกเพื่อเปิดเผยทิวทัศน์สองข้างทางให้ประจักษ์แก่สายตา แม้จะคุ้นเคยยิ่งนัก แต่เธอก็มิเคยเบื่อหน่ายซึ่งเส้นทางสายนี้ ต้นคูนขนาดใหญ่โอบกอดสองข้างทางแบบหลวมๆ พอให้แสงแดดรำไรยามอาทิตย์ใกล้อัศดงได้สอดส่าย ซ้ายขวา สลับเบี่ยงไปมาเพื่อให้อบอุ่นแก่พื้นผิวถนน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เบื้องหน้าสีฟ้าครามทำมุมกระทบกับแสงสุรีย์ ส่งประกายสีเงินระยิบระยับวับวาว ชวนให้ได้ผ่อนคลายและบรรเทาก้อนทุกข์ขนาดใหญ่อันทับถมใจ ณ เวลานี้

.

.

.

“ฮัลโหลมีอะไรแม่ มิสคอลอะไรกันมากมายตั้งสี่ห้าครั้ง”

เพลิงเนตรตะคอกแม่เสียงดังลั่นเข้าไปในมือถือ ไม่เกี่ยวกับเสียงรถวิ่งดังเกินไป ไม่เกี่ยวกับระยะสื่อสารที่มีทิวเขาขวางกั้น ไม่เกี่ยวกับหูของแม่ที่ยังรับฟังเสียงได้ชัดเจนดี…เกี่ยวกับตัวเพลิงเนตรเองเท่านั้น…เท่านั้นจริงๆ

“เนตร…ฟังแม่ก่อนลูก ตอนนี้แม่อยู่บนรถนะกำลังจะถึงโคราชแล้ว คุณยายไม่ไหวแล้วนะ เมื่อวานแม่โทรหาเนตรตั้งหลายทีก็ไม่ยอมโทรกลับ รีบตามมานะลูก…มาให้ทันดูใจคุณยาย”

“แม่นั่นแหละฟัง… คุณยายอายุขนาดนี้แล้วช้าเร็วก็ต้องตาย คนเราเกิดมาต้องตายทุกคนนะแม่มันเป็นธรรมดาโลกหนูไปก็ช่วยอะไรยายไม่ได้ หนูไม่ใช่หมอนะแม่ ที่สำคัญตอนนี้หนูทำงานอยู่กว่าจะเลิกก็เย็น นั่งเครื่องบินไปก็ยังไม่ทันเลย แม่กับน้านาเห็นสมควรยังไงก็ทำเถอะ เดี๋ยวค่ำๆ หนูโอนเงินไปให้”

.

.

.

.

สาลิกาฟังลูกสาวคนโตพูดด้วยหัวใจแตกสลาย เงินเป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อการดำรงชีวิตและแม้กระทั่งช่วยอำนวยความสะดวกตอนใกล้จะตายนั้นจริงอยู่ แต่ไม่ใช่ตอนนี้นะลูก…ไม่ใช่

“เนตร…คุณยายเลี้ยงลูกมาตั้งแต่สองขวบนะ…แม่ว่า…”

“พอเหอะแม่…มาย้ำเตือนอะไรนักหนา หนูไม่ได้ความจำเสื่อมนะ แม่มีเหตุผลหน่อยสิคะ หนูทำงานอยู่ ทำงานแล้วก็จะได้เงิน ได้เงินก็ส่งให้แม่ได้ใช้ไง…”

.

.

.

.

เอี๊ยดดดด…ดดดด

.

.

.

“ไอ้บ้าเอ๊ย ขี่มอไซด์ประสาอะไรวะ อยู่ๆ ตัดหน้ารถกระทันหัน…ดีนะว่ากูเก๋าเหยียบเบรคทัน” โชเฟอร์รถทัวร์ตะโกนด่าเสียงดังลั่น

“เออว่ะพี่หาญ…แบบนี้ตายมาหลายรายแล้วนะเนี่ย…โชคดีจริงว่ะที่พี่หลบทัน ไม่งั้นผู้โดยสารรถเราคงแย่กันหมดแน่เลย” เด็กรถวัยราวๆ ยี่สิบปีผู้นั่งอยู่ฝั่งซ้ายมือของโชเฟอร์พูดคุยเออออห่อหมกด้วยสีหน้าเคร่งเครียด หนุ่มน้อยเอามือเร่งเสียงเพลงให้ดังขึ้น แล้วหิ้วกระติกน้ำเดินผ่านผู้โดยสารไปทางด้านหลังของรถ

สาลิกานั่งอยู่ด้านหลังคนขับพอดี เธอมักเลือกจองที่นั่งตำแหน่งนี้เพราะจำได้ว่าหากเกิดอุบัติเหตุ ตามสัญชาติญาณมนุษย์แล้วคนขับจะต้องเลือกเอาด้านที่ตัวเองอยู่ให้ห่างจากอันตรายมากที่สุด ซึ่งก็ได้ผลอย่างที่เธอคิดไว้ทุกครั้ง…แต่สำหรับครั้งนี้…

ตลอดเวลาที่สาลิกาคุยโทรศัพท์เธอมองไปด้านหน้าของรถตลอดเวลา ระยะห่างระหว่างเธอและคนขับไม่ถึงหนึ่งไม้บรรทัด…สาลิกามองไม่เห็นยานพาหนะ หรือมนุษย์หน้าใหนตัดหน้ารถทั้งสิ้น…พระเจ้า!!!!!

.

.

.

.

“ขอโทษด้วยนะครับทุกท่าน เมื่อสักครู่มีคนขี่รถตัดหน้าน่ะครับ พี่คนขับเลยเบรคแรงไปนิดหนึ่ง…ยาย…ไม่เป็นไรนะครับ” หนุ่มน้อยใช้มือซ้ายบีบนวดแขนคนแก่ ขณะมือขวาถือกระติกน้ำแข็งอยู่ ระหว่างเดินกลับมายังด้านหน้าของรถเขาแวะทักทายผู้โดยสารด้วยคำพูดโอภาปราศรัย และแสดงความห่วงใย

“แม่…ฟังอยู่หรือปล่าว…แม่” เนตรร้องถามทางมือถือ

.

.

.

สาลิกาหลับตา พลางนึกทบทวนเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นแค่เสี้ยววินาที ขณะกำลังเรียบเรียงเหตุการณ์ก่อนหลังเธอก็พลันได้ยินเสียงกระซิบกระซาบ

“มาแล้วลูกพี่น้ำเย็นสักแก้วจะได้สดชื่นขึ้น …มะขามคลุกสักหน่อยมั๊ยล่ะ จิ๊ดจ๊าดดีนะพี่”

“เออดี…มึงแกะมาเลย…แม่งไม่ไหวมีบอลโลกทีไรกูเป็นแบบนี้ทุกที…เฮ๊ย…ตอนมึงเดินไปมีใครบ่นอะไรไหมวะ” ประโยคหลังพูดอย่างแผ่วเบาที่สุด

“โอ๊ย…จะบ่นอะไรล่ะพี่ จับแขนนิด ลูบหลังหน่อย…สาธุ…คุณพระคุณเจ้าช่วยกันเป็นแถ๊ว…ววว…555”

.

.

.

.

“อีกสักครู่ ท่านจะได้พบกับเยาวชนดีเด่นประจำปี 2550 นักร้องน้องใหม่ดาวรุ่งพุ่งแรงเจ้าของอัลบั้ม…” เสียงพิธีกรประกาศเรียกตัวเพลิงเนตร

.

.

“แม่…หนูต้องไปแล้วนะ…ฟังอยู่หรือปล่าวนี่…แม่…”

ก้าวอื่นๆ 

 

ขณะหนึ่งเดินทาง 

โดย ส้มลิ้ม 

Id in It: ว่าด้วยการสร้างศิลปะ

   จากบทความที่แล้วซึ่งกล่าวถึงมุมมองในการอ่านงานศิลปะ เพื่อจะเข้าถึงในสิ่งที่ศิลปินเพียรสร้างขึ้น ฉบับนี้ เราจะกล่าวถึงศิลปะจากมุมมองของศิลปินบ้าง เพื่อที่อย่างน้อยที่สุด หากคนดูรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏรูปอยู่ตรงหน้ามีที่มาอย่างไร ก็อาจจะทำความเข้าใจกับงานนั้นๆ ได้ง่ายขึ้นอีกระดับหนึ่ง

   เมื่อพูดถึงการสร้างงานศิลปะโดยพื้นฐาน องค์ประกอบสำคัญที่ต้องหลอมรวมกันให้เกิดเป็นชิ้นงาน มักจะเริ่มต้นจากแรงบันดาลใจของศิลปิน (ยกเว้นงานประเภทเล่นสนุกกับวัสดุเก็บตก ที่ศิลปินจะเปลี่ยนแปลงความคิดและการสร้างงานตามรูปแบบของวัสดุอยู่เสมอ) แรงบันดาลใจนี้ คล้ายกับการตกหลุมรักใครสักคนเมื่อแรกเห็น ดวงตาของคุณจะเป็นประกายจับจ้องอยู่ที่คนคนนั้น ศิลปินก็เช่นกัน ประกายจากแรงบันดาลใจจะเจิดจ้าขึ้นและถูกพัฒนาเป็นแนวความคิดในการสร้างงาน

   เมื่อมีแนวความคิด ก็เหมือนมีแผนจะเข้าไปทำความรู้จักกับคนที่คุณตกหลุมรัก ถัดจากนั้นจึงเป็นเรื่องของเทคนิคที่ต่างคนย่อมมีสไตล์ต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นงานประติมากรรม จิตรกรรมสีน้ำ สีน้ำมัน หรือภาพพิมพ์แกะไม้ แขนงข่ายกว้างขวางเหล่านี้เทียบได้กับการพยายามเฟ้นหาคำพูดและสร้างสถานการณ์เพื่อทำความคุ้นเคยกับว่าที่คนรักของคุณ ทั้งการส่งดอกไม้ ขอเบอร์โทรศัพท์ แกล้งเดินชน (เบาๆ) หรือบอกเขาว่า เราเคยเจอกันที่ไหนมาก่อนหรือเปล่า?

   ในระหว่างกระบวนการสร้างงานของศิลปิน ย่อมต้องมีการลองผิดลองถูก ต้องลบ ต้องแก้ ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อสื่อแสดงสิ่งที่คิด สิ่งที่รู้สึก ให้ปรากฏรูปออกมาจนคนอื่นสัมผัสได้ เพราะคงไม่มีศิลปินคนใดสร้างงานไว้แล้วอยากเก็บไว้ดูคนเดียว เนื่องจากศิลปะเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องได้รับการเผยแพร่สู่การรับรู้ของผู้ชม กระบวนการสร้างงานนี้ เสมือนกับระหว่างที่คุณกำลังจีบใครสักคน เพียรโทรหาเขา นัดเจอกัน เรียนรู้นิสัยใจคอ และพยายามบอกให้เขารู้ว่าในใจคุณคิดกับเขาอย่างไร เพราะการจีบใครสักคนย่อมเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเผยแพร่ อย่างน้อยก็กับคนคนนั้น เขาจะได้ความเข้าใจว่าคุณรู้สึกเสน่หาท่วมท้นหัวใจเพียงใด (เว้นแต่คุณคิดจะจีบแฟนเพื่อน อันนั้นเป็นอีกกรณี ใช้แนวความคิดและกระบวนการทำงานแบบเดียวกันไม่ได้)

   เมื่อการสร้างงานสัมฤทธิ์ผล ก็ไม่ต่างจากการขอแต่งงานกับคนคนนั้นและเขาตอบตกลง ดวงตาของคุณจะส่งประกายความสุขด้วยความรักที่สมหวัง ดวงตาของศิลปินก็จะเปล่งปลั่งด้วยความอิ่มเอมอาบร่าง (ส่วนหลังจากนั้นจะอยู่กันรอดไหมก็เป็นอีกเรื่อง เหมือนเขียนรูปแล้วจะมีคนสนใจแค่ไหน จะมีชื่อเสียงโด่งดังไหม ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งไป)

   เมื่อมาถึงจุดนี้ หลายท่านคงมองเห็นภาพได้ว่างานศิลปะเป็นสิ่งที่ต้องสร้างจากความรู้สึก ความคิด ผ่านกระบวนการคัดกรองของจิตใจ มันสมอง และสองมือ เหมือนเช่นที่หลายท่านคงเคยเห็นแผ่นป้ายเล็กๆ ที่ติดอยู่ข้างผลงาน ซึ่งจะมีข้อมูลของชื่องาน ขนาด เทคนิค ปีที่สร้างงาน และแนวความคิดปรากฏให้เห็นเสมอ เพราะการจะดูงานศิลปะให้เต็มอิ่ม บางครั้งการรู้ที่มาของความคิดนั้นๆ (เหมือนแค่มองหน้าสาวสวยไม่พอ ต้องได้คุยกันสักนิด ถึงจะรู้ว่าเธอเป็นคนอย่างไร น่ารักน่าค้นหาแค่ไหน) ที่มาของงานศิลปะ มีขั้นตอนและเงื่อนไขในการพัฒนาเนื้องานจากตัวศิลปิน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้ใช้แค่อารมณ์รุนแรง ไม่ได้สักแต่ป้ายๆ ให้เต็มเฟรม แต่มันมีเรื่องของจิตใจทั้งในส่วนที่ รู้สำนึก และ ไร้สำนึก เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

 

   จิตไร้สำนึกทำงานตามสัญชาตญาณ จิตสำนึกทำตามเหตุผลที่คิดได้ เหนือไปกว่านั้นจะมีจิตอีกลักษณะหนึ่งที่ผ่านการพัฒนาด้วยศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม อุดมคติ พุทธิปัญญา ซึ่งหากเราจะนำแนวคิดนี้มาใช้ในการพิจารณางานศิลปะ ก็อาจเริ่มต้นจากความรู้สึกแรกเห็นที่เกิดขึ้นตามสัญชาตญาณส่วนตน จากนั้นจึงพิจารณาถึงเรื่องราวเนื้อหาหรือรูปแบบชิ้นงานที่กระทบใจเรา และสุดท้าย คือลองตรองเล่นๆ ว่างานชิ้นนี้หลงเหลือสิ่งใดให้เราหลังจากผ่านตาไปแล้วหรือไม่ เพราะว่ากันว่า “งานศิลปะจะแสดงมือของศิลปินให้ผู้ชมเห็น” ดังนั้น คุณค่าของงานศิลปะจึงขึ้นอยู่กับว่าศิลปินได้ใช้จิตส่วนของสัตว์เลื้อยคลาน ส่วนของความเป็นเหตุเป็นผล หรือส่วนของพุทธิปัญญาในการสร้างงาน

    เช่นเดียวกันกับเรื่องที่ยกมาเทียบเคียงตั้งแต่ข้างต้น

   การตกหลุมรักอาจเป็นเพียงความรู้สึกหรือสัญชาตญาณ แต่การหลงรักจนคบหาและดำเนินชีวิตร่วมกันระหว่างคนสองคน ย่อมต้องการสติปัญญาและพุทธิปัญญา เพื่อการรับฟังเหตุผลและให้อภัย เพราะฉะนั้นคงไม่แปลกอะไร ที่ใครหลายๆ คนจะคบกันได้ในเวลาไม่นาน นั่นอาจเป็นเพราะคุณหรือเขาใช้แต่ ID โดยไม่เคยพยายามเข้าใจ In It (or him and her) ก็เป็นได้

(To be continuing in next issues)

ส้มลิ้ม

ก้าวอื่นๆ 

 

กรงวาทกรรม 

ภาพมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ ตอนนี้…

 

 

VS

ภาพมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จากบทความ

โดย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

 

   บทความที่ฉันตั้งใจเขียน หลังจากที่บทความคราวที่แล้วของฉันไม่ได้ลงในก้าวรอก้าว คือการมีชีวิตอันแสนสุขสบายในฐานะนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วภาคภูมิใจประหนึ่งได้มีส่วนร่วมกับประวัติศาสตร์อันแสนยิ่งใหญ่ในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ส่วนสำคัญของเมืองไทย (?) พร้อมกันนั้นก็ภูมิใจในความเป็นคนไทยในประชาธิปไตยยุคใหม่ (??) ที่มีชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นเครื่องนำพาชีวิต (ชนชั้นกลาง) ของฉันให้เจริญรุ่งโรจน์ เพื่อที่บทความของฉันจะได้เข้ากับ Concept ปิดปากคราวที่แล้ว แถมไม่เป็นภัยเมื่อเอาลงเว็บคุณวินทร์ด้วย ดังนั้นแล ฉันจึงไม่รอช้าที่จะคุ้ยกองหนังสืออันแสนรกในหอพัก เพื่อหาหนังสือที่พอจะช่วยให้รู้สึกรำลึกซาบซึ้งในกรุณาธิคุณของรุ่นพี่ เผื่อเวลาลงมือเขียนจะได้ลิ้มรสประวัติศาสตร์อันแสนหวานหอม (???)ได้อย่างมีอรรถรสยิ่งขึ้น

   และแล้วหนังสือ “มหาวิทยาลัยของฉัน” หนึ่งในบันทึกประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์ในยุคดังกล่าว ก็อยู่ในมืออีกรอบหลังจากที่ฉันยืมจากห้องสมุดแล้วดองไว้เสียเกือบเดือน เนื้อหาภายในเป็นประมาณรวมบทความบันทึกจากรุ่นพี่ที่อยู่ในเหตุการณ์ ซึ่งชื่อหนังสือก็มาจากหนึ่งในรวมบทความนั้นโดยผู้เขียนคือ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล หนึ่งในแกนนำ 6 ตุลาฯ และเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จนถึงปัจจุบัน (จาก Wikipedia http://th.wikipedia.org/wiki/สมศักดิ์_เจียมธีรสกุล)

   จริงๆฉันก็เคยได้ยินจากคนรอบตัว มาบ้างว่าสมศักดิ์เป็นพวกกลุ่มซ้ายหัวรุนแรง แล้วก็ออกแนวเพี้ยนๆ หมกมุ่น อยู่กับโลกของอดีตยุคตุลาฯมากไป ดังนั้นฉันจึงไม่ได้คาดหวังอะไรจากการอ่านบทความชิ้นนี้มากไปกว่าเตรียมซาบซึ้งถึงวีรกรรมยุคตุลาฯ แต่เมื่อฉันเริ่มต้น ฉันกลับพบว่าตัวเองกำลังฝืนกล้ำกลืนอ่านบทความ “มหาวิทยาลัยของฉัน” ด้วยความยากลำบาก มิใช่ว่าผู้เขียนเขียนได้ไม่ดี แต่การณ์กลับตรงกันข้าม เพราะภายในเนื้อหาผู้เขียน ได้เปรียบเทียบถึงชีวิตในสองมหาวิทยาลัยที่ผู้เขียนประสบ โดยมหาวิทยาลัยหนึ่งที่ได้มีโอกาสเข้าเรียน เป็นมหาวิทยาลัยที่มีสิทธิ เสรีภาพทางความคิด การศึกษา มีกิจกรรมสำหรับประชาชน มีอุดมการณ์ทำเพื่อประชาชน แต่อีกมหาวิทยาลัยหนึ่งที่ผู้เขียนกลับถูกยัดเยียดให้เข้าเรียนเพื่อดัดสันดานอย่างไม่เต็มใจด้วยอำนาจรัฐเพราะเชื่อในการปฏิวัติหรือการทำเพื่อประชาชนได้อย่างน่าสนใจ แต่ความรู้สึก ความทรงจำบางอย่างที่ฉันพยายามจะหลีกหนีได้ย้อนกลับมาใหม่อีกครั้ง

   ความรู้สึกบางอย่างที่ต้องการหลีกหนีนี้ เป็นความรู้สึกหลงรักคนเขียนอย่างห้ามใจไม่ได้ ผ่านกระบวนการสร้างความรู้สึกจากเรื่องราวซ่อนเร้นภายใต้ “มหาวิทยาลัยของฉัน” อาจจะด้วยความรู้สึกมุ่งมั่นอย่างบริสุทธิ์ใจในบทความ ที่เป็นอุดมการณ์หล่อเลี้ยงคนเขียน จนทำให้เกิดบทความบันทึกความทรงจำที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดในความพ่ายแพ้ของยุคนั้น แต่แฝงด้วยความหวังอันเรืองรอง ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ได้ไล้ไปตามอักษรแต่ละตัว พร้อมซึมผ่านสมองเข้าสู่ความรู้สึกในส่วนลึกแก่ผู้อ่าน โดยกระบวนการนี้แม้จะจบลงที่หน้ากระดาษสุดท้ายของบทความ แต่กระนั้นความรู้สึกหลังจากจบกระบวนการกลับไม่ได้จบตามกันไป

   จริงๆฉันอาจจะหลงรักไปมากกว่านี้ ถ้าฉันเกิดไม่ได้ยินเจ้าลาเบนจามิน จากเรื่อง Animal farm มากระซิบข้างหูของฉันว่า “ไม่ว่าจะมีการปฏิวัติหรือไม่มีการปฏิวัติ ชีวิตก็ยังคงเลวร้ายอยู่เหมือนเดิม”

   เพื่อพิสูจน์คำพูดลาเบนจามิน ฉันจึงได้กลับไปเปิด Wikipedia เพื่อดูรายชื่อในแกนนำยุค 6 ตุลาฯ แล้วลองดูประวัติแต่ล่ะคน โดยทั้งนี้ทั้งนั้นฉันก็ย้อนไปดูบุคคลผู้อยู่ในช่วง 14 ตุลาฯ พร้อมๆกับแนวคิดของคนในยุคนั้น…

   คำตอบหนึ่งที่ฉันได้รับแทบจะทันทีทันใด คือไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้ประชาธิปไตยจากช่วง 14 ตุลาฯ มาจริง ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศไทยก็ยังเป็นผู้แพ้ มีชีวิตเฮงซวยเหมือนเดิม กลุ่มผู้มีอำนาจก็ยังมีอำนาจไม่เปลี่ยน

   คำตอบที่สองที่ฉันได้รับ คือชีวิตมนุษย์ช่างเส็งเคร็งยิ่งนัก หลายคนที่มีอุดมการณ์หนึ่งในยุคนั้นกลับเปลี่ยนมาอีกอุดมการณ์หนึ่ง เพราะไม่อาจต้านทานแรงเชี่ยวกรากภายในสังคม จนบางครั้งฉันเองก็รู้สึกว่า หากพวกเขาไปเข้าพวกรัฐบาล หรือพวกทหารในยุคนั้นแต่แรก พวกเขาคงดูดีกว่านี้เยอะ

   แล้วคำตอบสุดท้าย คนที่ยังยึดมั่นในอุดมการณ์ ในความคิด ความเชื่อของตนเอง ถ้าริจะออกมาป่าวประกาศสิ่งที่ตนเองเชื่อ ก็ควรจะทำใจไว้แต่เนิ่นๆกับสังคมที่ไม่ยอมรับความแตกต่างของผู้อื่น

   เอ๊ะ… นี่ Concept ของฉันต้องการเขียน การมีชีวิตอันแสนสุขสบาย ในฐานะนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วฉันมานั่งเขียนบ่นเป็นป้าแก่ๆไปไย?

   ฉันต้องเขียนแบบนี้ซี (เพราะขืนเขียนแบบอื่นเดี๋ยวโดนแบนด้วยล่ะ) ฉันมีชีวิตสุขสบายดีในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีเงินใช้ มีข้าวกิน มีโน้ตบุ๊คใช้ มีมือถือให้เล่น fb วันๆก็ไม่ทำอะไร เข้าห้องเรียนหนังสือ แอบเล่น black berry ที่ห้อยคอเอาไว้เกือบตลอดเวลา อาจารย์ที่สอนก็สอนไป บรรดาอาจารย์ที่น่ารักบางคนถ้าว่างจัด ก็มีแอบเอาคลิปโป๊มาเปิดให้เลือดพอสูบฉีดบ้าง งานที่ทำก็มีแต่การบ้าน ไม่ทำกิจกรรมมากมาย เพราะพวกกิจกรรมเด่นๆเช่นงานบอลฉันกลับรู้สึกว่ามันน่าเบื่อเต็มทน เพื่อนในมหาวิทยาลัยถ้าว่างดึกๆก็ชวนไปเที่ยวผับชื่อดังในย่านรังสิต พอเช้าก็อาจตื่นสายประปรายบ้าง ประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์น่ะหรือ ส่วนใหญ่ก็ภาคภูมิใจอยู่นะ แต่มีไม่กี่คนที่จำได้จริงๆหรอก ภาพครั้งสุดท้ายก็อาจจะตั้งแต่เข้ามาในงานวันรับเพื่อนใหม่ก็เป็นได้ แต่จะว่าไปจริงๆฉันก็แอบไปดูงานรับเพื่อนใหม่ปีนี้นะ ดูที่รุ่นน้องรุ่นพี่ และรุ่นเดียวกับฉันเขียนแสดงความเห็นด้านการเมืองที่เขาจัดบอร์ดให้เขียนตรงสนามฟุตบอลที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ฉันได้เห็นข้อความนึงที่น่าสนใจเขียนเอาไว้ว่า

   เอาจริงๆเท่าที่ฉันจำได้ คำขวัญธรรมศาสตร์ที่ไม่เป็นทางการ “ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” นี่เด็กธรรมศาสตร์หรือแม้แต่ตัวธรรมศาสตร์เห็นว่ามันสอดคล้องกับคำว่า “รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ได้มากน้อยเพียงใด แล้วรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ทำให้คนอยู่ดีกินดีขึ้นไหม แต่เอ๊ะ… ฉันสามารถตั้งคำถามหรือปฏิเสธที่จะไม่เชื่อในประโยคอมตะนี้ได้หรือเปล่าล่ะนี่?

   แม้ฉันอาจหลงรักความเป็นสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลและงานเขียนของเขา หลงรักภาพธรรมศาสตร์ในยุคตุลาฯที่นักศึกษาอออกมาเคลื่อนไหวทำกิจกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมในชุมนุมวรรณศิลป์ที่ไม่เงียบเหงาเหมือนปัจจุบัน แอบยินดีเล็กๆที่จะรับใช้วาทกรรมที่ซ่อนเร้นในนั้น แต่สิ่งที่ฉันหลงรักมันไม่สอดคล้องกับสภาพชีวิตจริงของฉัน ยิ่งถ้าแสดงออกมากเข้า จริงๆก็อาจจะไม่ปลอดภัยต่อชีวิตของฉันในสังคม “ไทย” ก็เป็นได้

   ฉะนั้น… ฉันได้แต่มองวาทกรรมซ่อนเร้นอย่างเศร้าๆ แล้วจำต้องเดินออกมาเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์เท่านั้น

   แต่ด้วยการเป็นผู้สังเกตการณ์นี้เอง ฉันจึงมองเห็นอะไรหลายๆอย่างได้ชัดเจนมากขึ้น ว่าวาทกรรมทุกตัวไม่มีสิ่งใดผิดหรือถูก เป็นเหตุเป็นผลมากกว่าสิ่งใด เพราะท้ายที่สุดต่างฝ่ายต่างก็ติดอยู่ใน “กรงวาทกรรม” อันใดอันหนึ่ง จนอาจมองไปที่บริบทอื่นๆได้น้อย หรือแทบไม่มองเลย ไม่ว่าจะใช้วาทกรรมนี้มาอธิบายภาพมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในยุคปัจจุบันนี้ หรือมหาวิทยาลัยในยุคตุลาฯ ประชาชนในประเทศไทยของเรา… ก็ยังมีชีวิตเลวร้ายเช่นเดิม

   เพียงแต่ “กรง” ตัวนี้อาจจะต่างกัน โดยผู้อยู่ภายใต้วาทกรรมชุดหนึ่งอาจใช้กำลังอำนาจเหนือผู้อยู่ภายใต้วาทกรรมอีกชุด โดยกักขังผู้ที่อยู่ภายใต้วาทกรรมที่ต่างจากตนด้วยลูกปืน (และมุ้งสายบัวในบางคราว) เป็นการกักขังพร้อมกับวาทกรรมที่วนไปวนมาหาทางออกไม่ได้ในทางกายภาพ จนสุดท้ายกลายเป็นกรงวาทกรรมที่ไม่พร้อมปรับสภาพกับสังคมปัจจุบันมากนัก (หรือปรับแต่อาจจะน้อย) ส่วนวาทกรรมที่มีอำนาจก็ถูกกักขังด้วยอคติทางความคิดแต่เริ่มต้นเนื่องจากไม่ยอมรับในความต่างก็ผู้อื่น

   แม้วาทกรรมอาจจะไม่มีผิดไม่มีถูก แต่ทุกวาทกรรมควรมีเสรีภาพในการแสดงออก แล้วมนุษย์ควรมีเสรีภาพในการเลือกที่จะเชื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และวิจารณ์ได้ภายใต้ขอบเขตไม่ก้าวก่ายสิทธิใครมากเกินไปมิใช่หรือ? เพราะถ้าให้เสรีภาพ ในการเลือกที่จะเชื่อ หรือวิจารณ์สิ่งใด มันก็น่าจะนำไปสู่การพัฒนาสังคม ไม่รู้ซีนะ ในความคิดของฉัน มนุษย์คงอึดอัดน่าดู หากไม่ได้เลือกในสิ่งที่ตัวเองอยากจะเชื่อ หรือวิจารณ์ในสิ่งที่ใจคิด

   แล้วในเมื่อเลือกเชื่อเลือกพูดเลือกวิจารณ์อะไรไม่ได้ ดังนั้นฉันจึงได้แต่มอง “รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ที่เหลือ กับชีวิตที่ดำรงอยู่อย่างขื่นๆ ฉันอาจพูดนอกเหนือจากนี้ได้ก็จริงนะ แต่อย่างที่บอก มันไม่อาจรับประกันได้ว่าบทความชิ้นนี้จะได้มีโอกาสลงนิตยสาร มีที่สถิตอยู่ในเว็บคุณวินทร์ หรืออย่างสูงที่สุดมีความปลอดภัยในชีวิต เท่ากับว่าฉันไม่มีทางเลือกให้พูดมากนัก แม้แต่ในมหาวิทยาลัยที่ได้ชื่อว่ามีเสรีภาพก็ตาม

   แต่… โอเค เมื่อไม่อยากโดน sanction อีกรอบ คราวนี้ฉันเลือกที่จะพิมพ์ว่า…

ฉันรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์

   หากเป็นการพิมพ์ลงไปบนแป้น ที่เป็นแค่กิริยาชนิดหนึ่งเท่านั้น ที่ไม่มีความหมายอันใดนอกเหนือจากนี้สำหรับฉัน เพราะฉันไม่ได้อยากที่จะพิมพ์ แต่ฉันก็ไม่ได้บอกว่ามันดีหรือไม่ดีนะ ฉันแค่ทำตามหน้าที่ที่ควรทำเท่านั้น หากฉันยังอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในยุคปัจจุบัน แล้วยังอยู่สังคม”ไทย” แห่งนี้

ปล.สรุป นี่ฉันเลือกอ่านหนังสือเพื่อซาบซึ้งผิดเล่มหรือเปล่า… (วะ) เฮ้อ… ฉันไม่น่าอ่านเลย สุดท้ายก็แอบเผลอใจเผลอประเด็นไปจนได้

ก้าวอื่นๆ 

 

อิโหน่อิเหน่ โดย พีพี 

เด็กเลี้ยงผีเสื้อ 

   ภาพจากกรอบหน้าต่าง ผีเสื้อตัวหนึ่งกำลังบินหยอกล้อเล่นลม ผีเสื้อบินด้วยกำลังของมันเองหรือเป็นหน้าที่ของสายลมคอยพัดพามันไปอย่างไร้ทิศทาง?  
   
ปีกสองข้างกระพือเป็นจังหวะ อิสรเสรีเหลือเกิน โลกผีเสื้อกลางทุ่งหญ้าเขียวช่างเป็นโลกที่สวยงาม…เขาได้แต่ลอบมองผ่านกรอบหน้าต่าง

   “ผีเสื้อกระพือปีกโผบินกลางอากาศ ดอกไม้แรกแย้มคลี่กลีบต้อนรับ มันบินไปเกาะบนดอกแผ่วเบาเหมือนกลัวกลีบบางจะบอบช้ำ ผมมองผ่านทางหน้าต่าง ภาพนั้นช่างสมบูรณ์และสวยงามที่สุด”

   มีดเก่าสนิมเขรอะเล่มหนึ่งวางทิ้งอยู่ที่มุมห้อง เขาจับมีดง้างมือฟันขอบหน้าต่างซ้ำแล้วซ้ำเล่า ขอบหน้าต่างเกิดแผลเหวอะหวะไม่น่ามอง เหล็กดัดเส้นหนึ่งหลุดออกมา โลกของเขาเปิดกว้างขึ้นเล็กน้อย มองออกไปนอกหน้าต่างผีเสื้อโผบินแลดูสวยงามกว่าเดิม เหล็กหลุดออกมาทีละซี่ ในที่สุดโลกของเขาก็เปิดกว้างเต็มที่ เขากระหยิ่มยิ้มย่องปีนขึ้นแล้วกระโดดออกจากห้อง

   “ผมวิ่งออกทางประตูห้อง วิ่งไปหาผีเสื้อ อยากเข้าไปใกล้มากกว่านี้ แต่ทำได้เพียงมองอยู่ห่างๆ หากขยับตัวเข้าใกล้มันมากกว่านี้ หวั่นใจว่ามันจะปลาสนาการจากผมไป”

   กลางทุ่งหญ้าสีเขียว พระอาทิตย์เหนือหัวส่องแสงเจิดจ้า ลมเย็นพัดกระทบใบหน้า เขากางสองแขนแหงนหน้ามองฟ้า สีฟ้าสดใส กลุ่มเมฆรูปร่างแปลกประหลาดลอยคว้าง เขารู้สึกตัวเบาหวิวเหมือนล่องลอยอยู่บนปุยเมฆสีขาวนุ่มละมุน ผีเสื้อตัวหนึ่งบินมาเกาะที่ปลายนิ้ว เหมือนแขนกางเขนเป็นที่เพียงพักเหนื่อยล้าชั่วคราว เขาเพียงขยับนิ้วมันก็ลนลานบินหนีไปเกาะดอกหญ้าที่ขึ้นกระจุ๋มกระจิ๋มแทรกตามหญ้าเขียว

   “ท้องฟ้าสีคราม แสงอาทิตย์สาดส่องทั่วทุ่งหญ้าเขียว ผมเฝ้าสังเกตผีเสื้อแสนสวยด้วยความชื่นชม ตัดสินใจย่องเงียบๆ เข้าใกล้อีกนิด ใกล้เข้าไปๆ ในที่สุดมันก็อยู่ต่อหน้าผมระยะเพียงศอก ผมคลี่ยิ้มช้าๆ เหมือนว่ามันจะยิ้มตอบผมด้วยละ อยากหัวเราะออกมาดังๆ แต่กลัวว่ามันจะตกใจเสียงเลยกลั้นใจระเบิดเสียงหัวเราะดังกึกก้องในใจ”

   เขากระโดดแผล็วเข้าทางหน้าต่างที่เวลานี้ไม่หลงเหลืออุปสรรคเหล็กดัดให้ฝ่าฟัน มุ้งลวดหน้าต่างที่เขาถอดออกก่อนหน้านี้เป็นอุปกรณ์ที่เขานำมาทำเป็นตาข่าย เขาถือตาข่ายมุ้งลวดทำมือกระโดดออกจากห้องอีกครั้ง

   “ใช่ครับ ผมอยากได้ผีเสื้อตัวนั้นมาครอบครอง ก็ผมหลงรักมันเข้าแล้วนี่นา ยิ่งเมื่อได้เห็นใกล้ๆ ผมเพิ่งรู้ว่าปีกผีเสื้อทั้งสองข้างมีความสมดุลกันอย่างน่าอัศจรรย์ ทั้งขนาด รูปร่าง โดยเฉพาะสีสัน ผมนึกออกแล้วเขาเรียกกันว่า ‘สมมาตร’ ใช่ไหมครับ น่าทึ่งมาก เหมือนกับมีจิตรกรฝีมือดีจงใจปลุกปั้นแต้มแต่งอย่างบรรจงยังไงยังงั้น ผมคิดว่ามีน้อยคนนะครับที่มีโอกาสมองสัตว์ปีกน่าหลงไหลนี้อย่างใกล้ชิดชนิดตามองตาน่ะครับ”

  เขาวิ่งไล่จับผีเสื้อ เหยื่อตัวหนึ่งบินพุ่งเข้าหาตาข่าย เขาไม่รอช้ารีบจับยัดใส่กระเป๋ากางเกง เขานึกถึงความสุขในฝัน แต่ตอนนี้เขากำลังพบพานในชีวิตจริง ชีวิตจริงนอกห้องสี่เหลี่ยมอึดอัด ผีเสื้อตัวแล้วตัวเล่าบินเข้ามาไม่รู้อีโหน่อีเหน่ กระเป๋าสะสมผีเสื้อได้มากเท่าไหร่ความสุขก็ยิ่งพอกพูนมากขึ้นเท่านั้น เขาหัวเราะให้กับปีกแห่งความสุข

  “ตอนนั้นผมคิดอะไรอยู่นะเหรอ? ผมอยากเลี้ยงผีเสื้อครับ ผมพยายามไล่ตะปบอยู่หลายต่อหลายครั้งแต่จับไม่ได้เลยสักตัว ไม่น่าเชื่อนะครับ หมวกปีกกว้างที่อยู่บนหัวผมนั่นแหละเป็นอุปกรณ์จับผีเสื้อชั้นยอดเลย ผมไล่ครอบได้ตัวหนึ่ง และตามมาอีกหลายๆ ตัว ผมไม่ได้โลภนะ ตัวเดียวจะเลี้ยงยังไงล่ะครับ มันจะขยายพันธุ์ยังไง ผมแยกไม่ออกเสียด้วยสิว่าตัวไหนเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย ผมเห็นบางตัวบินกันมาเป็นคู่ด้วยนะ ถ้าไม่คิดมากเกินไปอาจจะบินมาเป็นครอบครัวด้วยซ้ำ รู้ได้ยังไงเหรอครับ ก็คงเหมือนคนมั้งครับ ตอนเย็นๆ พ่อแม่ลูกก็พากันมาเดินเล่นตามสวนสาธารณะน่ะ”

  ตะวันคล้อยต่ำลง แสงสุรีย์ยามเย็นย่ำส่องกระทบฝูงผีเสื้อที่แข่งกันกระพือปีกอวดความงดงามแห่งสีสัน ตาข่ายมุ้งลวดยังทำหน้าที่ไม่หยุดหย่อน สองเท้ายังวิ่งวนอย่างไม่รู้ล้า มือเขาเปรอะด้วยฝุ่นขนผีเสื้อ ความสุขลอยให้เขาไล่จับเหมือนไม่มีวันหมดสิ้น แต่แล้วเขาก็จำใจรามือเมื่อความมืดโรยปกคลุมทุ่งหญ้าเขียวกลายเป็นเทาหม่น เขาตบกระเป๋าสะสมปีกความสุขเบาๆ กลับเข้าห้องทางหน้าต่างบานเดิม ผีเสื้อทั้งหมดถูกล้วงออกกองกลางห้อง หลายตัวพยายามตะเกียกตะกายเอาตัวรอดจากการทับถมของเพื่อน บางตัวปีกขาดวิ่น บ้างปีกหักกระจัดกระจาย เขาหักข้อนิ้วมือเสียงดังกรอบ แลบลิ้นเลียริมฝีปาก มองกองผีเสื้ออย่างมีความสุข มีความสุขที่เขามีปีกมากมาย

   “ตะวันคล้อยต่ำลง แสงสีส้มสาดส่องสวนผีเสื้อราวกับสรวงสวรรค์ ผีเสื้อบินว่อนมากกว่าช่วงแรก ผมเห็นเหวลึกแลลึกลับ ผีเสื้อน่าจะบินขึ้นมาจากตรงนั้น ผมอยากปีนลงไปดูให้แน่ใจ แต่เปลี่ยนใจกลับเข้าบ้านเพราะกลัวว่าจะมืดเสียก่อน… เข้าทางประตูสิครับ หน้าต่างห้องติดเหล็กดัดนี่ครับ เมื่อถึงบ้านผมกะจะเลี้ยงมันไว้ในขวดโหล แต่มีปัญหาให้ต้องคิดหนักคืออาหาร ผีเสื้อกินอะไร? ผมจะรู้ได้ยังไงละครับ ดอกไม้มั้งครับ ก็เห็นมันชอบบินไปเกาะดอกไม้ แต่บางทีก็เห็นเกาะตามกองมูลหรือพวกเศษสวะนะ ไม่ทันที่ผมจะคิดหาอาหารให้มันได้มันก็ตายหมดเสียก่อน เสียใจสิครับ ก็ผมหลงรักมันเข้าแล้วนี่”

     เขาเด็ดปีกผีเสื้อออกทีละปีกๆ บางตัวนิ่งสนิทไม่ดิ้นเร่าเจ็บปวด บ้างบิดยึกยืออ่อนแรง หลายตัวบิดดิ้นดุ๊กดิ๊กทุรนทุรายราวกับรู้ว่าตนต้องโทษประหารพยายามดิ้นรนให้พ้นเงื้อมมือเพชฌฆาต เขาร้อยปีกผีเสื้อเข้ากับเส้นด้ายได้ความยาวกว่าวา

   “หลังจากผีเสื้อที่ผมรักตายหมด ผมเลยเด็ดปีกแล้วร้อยกับเส้นด้าย ทำไมถึงเด็ดปีกเหรอครับ? ก็ลำตัวมันเน่าแล้วส่งกลิ่นเหม็นนะสิครับ ผมร้อยปีกแล้วนำไปผูกที่ขอบหน้าต่าง ลมพัดมาทีปีกผีเสื้อจะพลิ้วไหวเหมือนมีฝูงผีเสื้อบินว่อนอยู่ตรงนั้น ปีกผีเสื้อนี้แหละครับที่อยู่เป็นเพื่อนผมทุกคืน”

  เขาพาดพวงมาลัยผีเสื้อไว้ที่คอ ปีนขึ้นหน้าต่างแล้ววิ่งเท้าเปล่าไปยังทุ้งหญ้าเมื่อกลางวันอีกครั้ง ท้องฟ้าคืนเดือนแรมมีดวงดาวประดับไม่เป็นระเบียบ สายลมพัดหวีดหวิว ปีกผีเสื้อโบกไหวราวกับมีชีวิต รู้สึกถึงความสวยงามแม้มองไม่เห็นสีสันเหมือนเช่นกลางวัน เดินเรื่อยมาจนถึงขอบหน้าผาที่เขาได้แต่ชายตามองด้วยความหวาดหวั่นเมื่อกลางวันเวลานี้เขารู้สึกต่างไปจากเดิม ความมืดมิดด้านล่างน่าค้นหาเกินกว่าจะห้ามใจ ความเย็นเยียบแผ่ซ่านจากปลายนิ้วเท้ากระจายทั่วสรรพางค์กาย กางแขนกว้าง ปลายนิ้วจับปลายเส้นด้ายมาลัยปีกผีเสื้อ เขามีปีก ปีกที่จะนำพาความอิสรเสรีที่เขาไม่เคยพบเจอในชีวิต เขาบินได้ เขาจะโบยบิน โบยบินเหมือนผีเสื้อด้วยปีกผีเสื้อที่เขามี ทันใดเขารู้สึกร่างกายเบาโหวงไร้น้ำหนัก เขากระพือปีกลอยละลิ่วไร้สิ้นสิ่งพันธนาการ

   “เหวเหรอครับ ทำไมผมต้องโดด ผมก็กลัวตายเหมือนกันนะครับ ที่เห็นผมอยู่ตรงนั้นผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าผมตกไปอยู่ตรงนั้นได้ยังไง บาดแผลนี้ได้มายังไงผมก็ไม่รู้ เปล่าครับผมไม่ได้ละเมอ หน้าต่างห้องเหรอครับ โจรเข้ามาขโมยของมั้งครับ ผมจะปีนหน้าต่างทำไมประตูออกก็มี อ่อ พ่อผมปิดตายประตูใหญ่เหรอครับ ไม่รู้สิครับ ผมไม่รู้ ผมลืมแล้ว อย่ามองผมแบบนั้นสิครับคุณหมอ ผมแค่หักข้อนิ้ว ผมทำของผมแบบนี้ประจำ ผมว่าเสียงหักข้อนิ้วก็น่าฟังดีนะครับ คุณหมอมีคำถามอีกไหมครับ เรื่องเกี่ยวกับผีเสื้อผมมีเท่านี้แหละครับ เป็นเรื่องตอนเด็กที่ผมแค่หลงรักผีเสื้อและอยากเลี้ยงมันเท่านั้นเอง ผมอยากเลี้ยงผีเสื้อครับไม่ได้อยากเลี้ยงแกะนะคุณหมอ เชื่อผมเถอะครับ”

15 กรกฎาคม 2553

ก้าวอื่นๆ 

 

ปีศาจ : เสนีย์ เสาวพงศ์

ปีศาจ’ วรรณกรรมอมตะที่ได้รับการพิสูจน์คุณค่าแล้วโดยกาลเวลา

นารินทร์ ทองดี

   นางาซาวะ ตัวละครตัวหนึ่งในนิยายของ ฮารูกิ มูราคามิ เรื่อง Norwegian Wood หรือที่มีชื่อในภาษาไทยสำนวนแปลของคุณนพดล เวชสวัสดิ์ว่า ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย ได้กล่าวกับโทรุ วาตานาเบะ ตัวละครเอกของเรื่องว่าเขาจะไม่อ่านหนังสือเล่มใดที่นักประพันธ์เสียชีวิตไปยังไม่ถึง 30 ปี

   นับว่าเป็นการตั้งเงื่อนไขในการค้นหา ‘วรรณกรรมชั้นดี’ ที่เข้าท่าไม่น้อย เพราะด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ กาลเวลาจะช่วยพิสูจน์ทุกสิ่งทุกอย่าง ดังนั้นการที่นิยายสักเรื่องจะอยู่ยงคงกระพันข้ามกาลเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้ประพันธ์ได้ล่วงลับไปแล้วนั้น ย่อมหมายถึงการได้พิสูจน์ ‘คุณค่า’ ของตัวเองอย่างไม่ต้องสงสัย

   สำหรับ ‘ปีศาจ’ ที่ผมหยิบขึ้นมาอ่านอีกรอบในครั้งนี้ มิได้ใช้หลักการของนายนางาซาวะ ในข้อที่ว่านักเขียนคนนั้นต้องตายไปแล้วอย่างน้อย 30 ปี แต่ใช้หลักในแง่กาลเวลา ซึ่งนับได้เกินครึ่งศตวรรษแล้วที่นิยายเรื่องนี้ถือกำเนิดขึ้นในบรรณพิภพ และท่านผู้ประพันธ์ยังคงมีชีวิตอยู่ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานคณะที่ปรึกษาบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)

   การหยิบ ‘ปีศาจ’ ขึ้นมาอ่านรอบนี้ แตกต่างจากการอ่านรอบแรกเมื่อหลายปีก่อน ครั้งนั้นอ่าน ‘เอาสนุก’ และแอบ ‘ซึมซับสำนวนภาษา’ อันเป็นลักษณะนิสัยประจำตัวของคนชอบขีดเขียน แต่ในครั้งนี้ผมอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์ อ่านระหว่างบรรทัด อ่านอย่างครุ่นคิด และบ่อยครั้งก็อ่านอย่างสลดหดหู่ กินระยะเวลาเกือบ 3 เดือน (พ.ค.-ก.ค. 53) ที่ผมได้สัมผัส ‘ปีศาจ’ ในนิยายพร้อมๆ กับสัมผัสปีศาจในชีวิตจริงท่ามกลางกระแสความขัดแย้งของคนในสังคม

   ปีศาจ เป็นเรื่องราวของคนหนุ่มสาวในยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมา 20 ปี ดำเนินเรื่องผ่านตัวละครเอกชื่อ สาย สีมา ซึ่งเป็นลูกชาวนาในจังหวัดชนบทแถบภาคกลาง (สังเกตได้จากการที่ตัวละครเดินทางสู่บางกอกโดยทางเรือ) และ รัชนี หญิงสาวที่ “…เกิดมาในสกุลขุนนางศักดินา มีสายเลือดสูงของบรรพบุรุษที่สืบสาวขึ้นไปได้ถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา” ผู้ซึ่งขบฎต่อครอบครัวของตนด้วยการเบนชีวิตสู่ชนบท

   สาย สีมา เป็นลูกคนเดียวของครอบครัวที่ได้ร่ำเรียนในบางกอก สอบกฎหมายได้เป็นทนายความชั้นหนึ่ง ส่วนรัชนีก็เป็นลูกสาวในครอบครัวขุนนางหัวโบราณเพียงคนเดียวที่ได้เรียนมหาวิทยาลัย

   ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ดำเนินไปท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในยุคนั้น ซึ่งเป็นยุคที่มีความชัดเจนในความหมายของคำว่าไพร่กับผู้ดี ชัดเจนในความพยายามจะดำรงอยู่ของ ‘สิ่งเก่า’ และชัดเจนอย่างยิ่งในความเปลี่ยนแปลงที่ทะลักเข้ามาสู่สังคมไทย

   นอกจากนี้ ยังมีตัวละครอีกอย่างน้อย 2 ตัวที่มี ‘หัวคิดก้าวหน้า’ อันได้แก่ กิ่งเทียน และนิคม โดยกิ่งเทียนเป็นเพียงครูสามัญคนหนึ่ง เคยปรารภกับรัชนีถึงความแตกต่างในโอกาสด้านการศึกษาระหว่างลูกหลานชนชั้นสูง ชนชั้นกลาง และชนชั้นล่าง (รวมถึงคนยากจนในชนบท) ด้วยความเชื่อในแนวความคิดเช่นนี้ ทำให้กิ่งเทียนผันตัวเองจากครูสามัญที่สอนเด็กในเมือง มุ่งสู่การเป็นครูชนบทในตอนท้ายเรื่อง ส่วนนิคมนั้นหลังสำเร็จการศึกษาก็ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ ดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอในชนบท และต้องเผชิญกับความคร่ำครึหลายประการในระบบข้าราชการไทย เมื่อเขาได้มีโอกาสกลับมาพบกิ่งเทียนอีกครั้ง เขาก็ระบายความอัดอั้นตันใจดังความในบทสนทนาหน้า 140 (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 : มติชน, 2548)

   “…เมื่อผมเป็นเด็กเคยตามพ่อไปอำเภอ พ่อผมเป็นชาวนาต้องนั่งพับเพียบเรียบร้อยลงกับพื้นพูดกับท่านที่อำเภอ ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ในปัจจุบันนี้ต้องไม่มีแล้ว เมื่อเราทุกคนเสมอภาคกัน ต่อหน้ากฎหมาย เมื่อประชาธิปไตยสอนให้เราเคารพคำของคนทุกคนโดยเท่าเทียมกัน แต่ผมก็ผิดหวัง สิ่งเหล่านั้นยังเหลืออยู่ และอยู่อย่างจะไม่เปลี่ยนแปลงเสียด้วย เมื่อราษฎรมาติดต่อ ผมให้เขานั่งเก้าอี้เท่าๆกับผมด้วยความยากลำบากเหลือเกินกว่าจะให้เขาทำเช่นนั้นได้เพราะถูกกดมาเสียจนเคยชิน ผมบอกว่า

   “นั่งข้างบนเถอะลุง เรามีสิทธิและค่าเท่าเทียมกันในการเป็นราษฎร และในฐานะเป็นข้าราชการผมเท่ากับเป็นคนใช้ของลุงนั่นเอง”

   แกฟังอย่างไม่เข้าใจหรือไม่แน่ใจมากกว่า นั่นเป็นความจริง และเมื่อแกไปแล้วผมก็ถูกตักเตือนว่า

   “ นี่คุณปลัด วิธีการของคุณน่ะใช้ไม่ได้หรอก คุณจะทำชาวบ้านกระด้างกระเดื่องปกครองยาก อย่าไปพูดถึงเรื่องสิทธิ์อะไรให้มากนักเลย เก็บไอ้สิ่งที่คุณได้เรียนมารู้มาไว้ในตู้เถอะดีกว่า เขาปกครองกันสงบเรียบร้อยมาเป็นร้อยๆปีแล้ว…”

   เมื่อประมวลเอาแนวความคิดที่ตัวละครอย่างกิ่งเทียนและนิคมได้แสดงออก รวมกับแนวความคิดและวิธีการทำงานในฐานะทนายความของสาย สีมา ซึ่งเขาได้ยึดถือความกตัญญูต่อสังคมส่วนรวมมากกว่าความกตัญญูที่มีต่อบุคคล ดังเหตุการณ์ที่มหาจวน ซึ่งสาย สีมานับถือเป็นอาจารย์ได้มาขอร้องให้ช่วยดำเนินการทางกฎหมายคือ ‘ฟ้อง’ ชาวบ้านในเรื่องที่นา สาย สีมาก็เลือกที่จะปฏิเสธและก้าวไปยืนเคียงข้างชาวนาผู้ยากไร้ เหล่านี้ย่อมเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมคำนิยาม ‘วรรณกรรมเพื่อชีวิต’ ของ “ปีศาจ” ให้เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

   เป็นไปได้ว่า ความเป็น ‘เพื่อชีวิต’ ในยุคนี้ได้ส่งอิทธิพลมาถึงหนุ่มสาวในยุคตุลาคม 2516 และตุลาคม 2519 เป็นผลให้วรรณกรรมเพื่อชีวิตเบ่งบานถึงขีดสุด ก่อนจะร่วงโรยในกาลถัดมา จนกระทั่งกระแสความเปลี่ยนแปลงอันเปรียบประหนึ่ง ‘ปีศาจ’ ได้คุกคามสังคมไทยในนามโลกาภิวัตน์

   ผมมีความรู้สึกต่อสาย สีมา ในแง่ที่เขาเป็นพระเอกในอุดมคติ แต่มิใช่อุดมคติในนิยายเพ้อฝันประเภทที่มักกำหนดให้พระเอกเป็นคนดีแต่โง่ ทว่าพระเอกในอุดมคติที่สาย สีมาเป็น คือ ความเชื่อมั่นในตนเอง กล้าที่จะแหกกฎเกณฑ์เก่าๆที่เคยดำรงอยู่ ดังที่ปรากฏในฉากตอบโต้ด้วยวาจาคมคายต่อท่านเจ้าคุณบิดาของรัชนี

   ส่วนรัชนีนั้นถ้าจะเทียบกับตัวละครทั้ง 3 ตัวข้างต้นแล้ว หล่อนคือตัวละครที่แบกรับความกดดันมากที่สุด ความต้องการเบื้องลึกที่จะออกไปสู่โลกกว้าง เพื่อจะอุทิศตนให้กับสังคมตามอุดมการณ์ที่มี กลายเป็นสิ่งที่ขัดแย้งต่อกรอบแนวคิดที่ครอบครัวกำหนด และเพื่อนชาย (สาย สีมา) ที่หล่อนเปิดประตูหัวใจรับ ก็กลายเป็นปีศาจในสายตาของผู้เป็นบิดาไป เหล่านี้จึงเป็นเหตุผลให้หล่อนต้องขบถต่อครอบครัวในท้ายที่สุด

   ขณะอ่านตลอดทั้งเรื่อง จะเห็นได้ว่าท่านผู้ประพันธ์ได้ใช้คำว่า ‘ปีศาจ’ เป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งต่างๆ ทั้งที่เป็นตัวบุคคลและเหตุการณ์ ดังที่ ตรีศิลป์ บุญขจร ได้วิเคราะห์รายละเอียดไว้ในบทตามท้ายเล่ม ดังนี้

   เสนีย์ เสาวพงศ์ ใช้ปีศาจเป็นสัญลักษณ์แทนความหมายหลายความหมาย

   ความหมายแรกคือ “ปีศาจขโมย” ในทัศนะของทหารญี่ปุ่นที่เห็นว่าผู้หวงแหนอธิปไตย เป็น “ปีศาจ” โดยใช้เมื่อกล่าวถึงอ้วน เพื่อนในวัยเด็กของสาย สีมาในระหว่าง “ญี่ปุ่นขึ้น” อ้วนและชาวบ้านที่เป็นไทยผู้หวงแหนอธิปไตย “รังควาน” ค่ายญี่ปุ่นด้วยการทำลายเสบียงอาหาร จนทหารญี่ปุ่นต้องรายงานว่าถูกรบกวนด้วย “ปีศาจขโมย” ซึ่งก็คือ “ปีศาจของผีเรือนที่หวงแหนบ้านของตนไม่ยอมให้ใครที่ไม่ได้เชื้อเชิญให้เข้ามาอยู่”

   ความหมายที่สองของปีศาจ หมายถึง “คนอกตัญญู” ที่ตัดสินใจเลือกการเข้ารับใช้ส่วนรวมแทนการ “กตัญญู” ซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัว มหาจวน ผู้เคยอุปการะสาย สีมา จึงประณามสายว่า “ไอ้ปีศาจตัวนี้มันอกตัญญู ฉันอุปถัมภ์มันแท้ๆ มันเนรคุณ” ปีศาจในที่นี้จึงหมายถึงผู้ชั่วร้ายในทัศนะของมหาจวนที่อกตัญญูผู้มีพระคุณหันไปช่วยเหลือชาวบ้านแทน แต่ในทัศนะของสายนั้นถือการตัดสินใจครั้งสำคัญที่เขาเลือกการอกตัญญูเพื่อที่จะรับใช้ส่วนรวม

   ความหมายที่สามของปีศาจ เป็นความหมายสำคัญที่สุด เพราะเป็นแนวคิดสำคัญของเรื่อง “ปีศาจ” ในทัศนะของเจ้าคุณและคุณหญิง บิดามารดาของรัชนี เมื่อกล่าวถึงสาย สีมา ว่า “ไอ้ปีศาจตัวนี้มันทำให้ฉันนอนไม่หลับ” และสาย สีมาก็ได้กล่าวสุนทรพจน์ในงานเลี้ยงว่า เขาคือปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาเพื่อหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่าความคิดเก่าทำให้เกิดความหวาดกลัว

   “ท่านคิดจะทำลายปีศาจตัวนี้ในคืนวันนี้ต่อหน้าสมาคมชั้นสูงเช่นนี้ แต่ไม่มีทางจะเป็นไปได้ เพราะเขาอยู่ยงคงกระพันยิ่งกว่าอาคิลลิสหรือซิกฟริด เพราะเขาอยู่ในเกราะกำบังแห่งกาลเวลา ท่านจะเหนี่ยวรั้งอะไรไว้บางสิ่งชั่วครั้งชั่วคราว แต่ท่านไม่สามารถจะรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้ตลอดไป โลกของเราเป็นคนละโลก…โลกของผมเป็นโลกของธรรมดาสามัญชน” (หน้า284-285)

   ด้วยอำนาจวรรณกรรมอมตะอายุกว่าครึ่งศตวรรษเรื่องนี้ ทำให้ผมอดไม่ได้ที่จะมองหา ‘ปีศาจ’ ในยุคสมัยปัจจุบัน แน่ละ ความเปลี่ยนแปลงก็ยังคงเป็นปีศาจ ‘ตัวแม่’ ที่สร้างความหวาดระแวงให้คนบางกลุ่ม ในขณะที่คนอีกกลุ่มที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้คนอีกกลุ่มก็คือปีศาจที่ทำให้คนอีกกลุ่มต้องถืออาวุธมายิงทิ้งให้สิ้นเรื่องสิ้นราว

   ‘ปีศาจ’ ในยุคปัจจุบันอาจจะยังมีปรากฎให้เห็นในรูปอื่นอีก และมีทีท่าว่าจะลึกลับซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ คำถามที่ผมถามตัวเองก็คือ เราจะทำอย่างไรกับปีศาจทั้งหลายทั้งที่เพ่นพ่านอยู่ภายนอกและที่สิงอยู่ในใจเรา

ผมถามตัวเอง ไม่ได้ถามใคร…

…………………………

ก้าวอื่นๆ 

 

  
ก้าวรอก้าว ปีสาม เล่มที่ ๕๔

kaawss.jpg

ก้าว..รอ..ก้าว (ปีสาม)
‘บ้านหนอน’ ออนไลน์แมกกาซีน
https://kaawrowkaw3.wordpress.com

kaawrowkaw@hotmail.com

สำนักหนอนสนทนา
http://www.winbookclub.com

ใส่ความเห็น